วันอังคารที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีของฟรอยด์

ทฤษฎีพัฒนาการของ Sigmund Freud - Theories of Development


ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theories) ของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, 1856 – 1938)
    เพลงเกี่ยวกับทฤษฎีของซิกมันฟรอยด์
 


แนวคิดที่สำคัญของทฤษฎี

แนวคิดที่สำคัญคือ ฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก ซึ่งมักจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น นอกจากนี้ยังเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ(Instinctual drive) และแรงขับดังกล่าวเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลง และเคลื่อนที่ได้ จิตจึงเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลง และไม่หยุดนิ่ง (Psycho-Dynamic) สัญชาตญาณดังกล่าว ได้แก่ สัญชาตญาณแห่งการมีชีวิต (Eros or Life) เป็นสัญชาตญาณที่แสดงออกมาในรูปแบบของสัญชาตญาณทางเพศ (Sexual Instinct) แต่ฟรอยด์ไม่ได้หมายถึง ความต้องการทางเพศ ตามความเรียกร้องทางด้านสรีระเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัญชาตญาณ ที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด และเป็นสัญชาตญาณ ที่แสดงให้เห็นถึงความปรารถนา และความต้องการ ที่จะได้รับความพึงพอใจ ในรูปแบบต่างๆ และสัญชาตญาณในการป้องกันตนเอง อันเป็นสัญชาตญาณที่ทำให้มนุษย์แสวงหาความพึงพอใจให้แก่ตนเอง และสัญชาตญาณแห่งความตาย (Thanatos or Death instinct) ที่แสดงออกมาในรูปของสัญชาตญาณในการทำลายหรือความก้าวร้าว ( Destructive instinct or aggressive instinct ) ฟรอยด์มองธรรมชาติในแง่ลบ (Pessimism) กล่าวคือ มนุษย์ไม่มีเหตุผล (Irrational) ไม่มีการขัดเกลา (Unsocialized) โดยมุ่งที่จะตอบสนอง และแสวงหาความพึงพอใจให้กับตนเองเป็นสำคัญ (Self-gratification) นอกจากนี้ ฟรอยด์ยังได้อธิบายว่าสัญชาตญาณจะแสดงออกมาในรูปของพลังทางจิตที่เกี่ยวข้องกับพลังขับทางเพศเรียกว่า พลังลิบิโด (Libido)เป็นพลังที่ทำให้มนุษย์ มีความปรารถนา และความต้องการที่จะได้รับความพึงพอใจในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถเคลื่อนที่ เปลี่ยนรูป และสามารถจะเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตามระยะเวลาของพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง และยังสามารถเคลื่อนที่ไปยังวัตถุ หรือบุคคลนอกตัวเราได้ เช่น หากพลังลิบิโด เคลื่อนไปอยู่ที่แม่ ก็จะทำให้เด็กเกิดความรัก และความหวงแหนแม่ เป็นต้น
ฟรอยด์ได้แบ่งจิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ คือ
1. จิตไร้สำนึก ( Unconscious Mind ) เป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะพฤติกรรมบางอย่างที่บุคคลแสดงออกไปโดยไม่รู้ตัว ที่เกิดมาจากพลังของจิตไร้สำนึกซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงออกไปตามหลักแห่งความพึงพอใจของตน และการทำงานของจิตไร้สำนึก เกิดจากความปรารถนา หรือความต้องการของบุคคลที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ที่ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น การถูกห้าม หรือถูกลงโทษ จะถูกเก็บกดไว้ในจิตส่วนนี้ ซึ่งเป็นกระบวนการปรับตัว เมื่อเกิดความขัดแย้งทางจิตที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การพูดพลั้งปาก ความฝัน เป็นต้น นอกจากนี้ สิ่งที่เก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกอาจมีอิทธิพลต่อการทำงานของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ปฏิบัติหน้าที่ไปตามแรงกระตุ้น เช่น เด็กที่เก็บกดความรู้สึกมุ่งร้ายในเรื่องเพศในวัยเด็ก เมื่อเติบโตขึ้นก็อาจหมดความรู้สึกทางเพศได้ ส่วนจิตไร้สำนึก อาจเปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็ง ส่วนใหญ่ที่อยู่ใต้ผิวน้ำ โดยมีจิตสำนึก (Conscious Mind) เป็นส่วนของน้ำแข็งที่อยู่เหนือน้ำ ที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย
2. จิตสำนึก ( Conscious Mind ) ซึ่งเป็นสภาวะที่บุคคลรับรู้ตามประสาทสัมผัสทั้งห้า ที่บุคคลจะมีการรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ คิดอย่างไรเป็น การรับรู้โดยทั่วไปของมนุษย์ ที่ควบคุมการกระทำส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับรู้ตัว (Awareness) และเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมา โดยมีเจตนา และมีจุดมุ่งหมายจิตสำนึกเป็นส่วนที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมสอดคล้องกับหลักความเป็นจริงในสถานการณ์ต่างๆ โดยอาศัยหลักแห่งเหตุผล และศีลธรรมที่ตนเองเชื่อถือเพื่อเป็นแนวทางในการแสดงพฤติกรรม
3. จิตก่อนสำนึก ( Preconscious Mind) เป็นส่วนของประสบการณ์ที่สะสมไว้แต่มีลักษณะเลือนๆ เมื่อถูกสภาวะ หรือสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม หรือเมื่อบุคคลต้องการ นำกลับมาใช้ใหม่ ก็สามารถระลึกได้ และสามารถนำกลับมาใช้ในระดับจิตสำนึกได้ และเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ชิดกับจิตรู้สำนึกมากกว่าจิตไร้สำนึก
               จะเห็นได้ว่าการทำงานของจิตทั้ง 3 ระดับจะมาจากทั้งส่วนของจิตไร้สำนึกที่มีพฤติกรรม ส่วนใหญ่เป็นไปตามกระบวนการขั้นปฐมภูมิ (Primary Process)เป็นไปตามแรงขับสัญชาตญาณ ( Instinctual Drives ) และเมื่อมีการรับรู้กว้างไกลมากขึ้นจากตนเอง ไปยังบุคคลอื่น และสิ่งแวดล้อม พลังในส่วนของจิตก่อนสำนึก และจิตสำนึก จะพัฒนาขึ้นเป็น กระบวนการขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process)
                    เนื่องจากระดับจิตสำนึก เป็นระดับที่ผู้แสดงพฤติกรรมทราบ และรู้ตัว ส่วนเนื้อหาของระดับ จิตก่อนสำนึก เป็นสิ่งที่จะดึงขึ้นมา อยู่ในระดับจิตสำนึก ได้ง่าย ถ้าหากมีความจำเป็นหรือต้องการ ระดับจิตไร้สำนึกเป็นระดับที่อยู่ในส่วนลึกภายในจิตใจ จะดึงขึ้นมาถึงระดับจิตสำนึกได้ยาก แต่สิ่งที่อยู่ในระดับไร้สำนึก ก็มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ฟรอยด์เป็นคนแรก ที่ได้ให้ความคิดเกี่ยวกับแรงผลักดันไร้สำนึก (Unconscious drive) หรือแรงจูงใจไร้สำนึก (Unconscious motivation) ว่าเป็นสาเหตุสำคัญของพฤติกรรม และมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของมนุษย์
ฟรอยด์กล่าวว่า มนุษย์เรามีสัญชาติญาณติดตัวมาแต่กำเนิด และได้แบ่งสัญชาติญาณออกเป็น 2 ชนิดคือ                      1) สัญชาติญาณเพื่อการดำรงชีวิต (Life instinct)           2) สัญชาติญาณเพื่อความตาย (Death instinct)
         สัญชาตญาณบางอย่าง จะถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก ฟรอยด์ได้อธิบายเกี่ยวกับสัญชาตญาณ เพื่อการดำรงชีวิตไว้อย่างละเอียด ได้ตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์เรามีพลังงานอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด เรียกพลังงานนี้ว่า "Libido" เป็นพลังงานที่ทำให้คนเราอยากมีชีวิตอยู่ อยากสร้างสรรค์ และอยากจะมีความรัก มีแรงขับทางด้านเพศ หรือกามารมณ์ (Sex) เพื่อจุดเป้าหมาย คือความสุขและความพึงพอใจ (Pleasure) โดยมีส่วนต่างๆ ของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึก และได้เรียกส่วนนี้ว่า อีโรจีเนียสโซน (Erogenous Zones) แบ่งออกเป็นส่วนต่างดังนี้
                - ส่วนปาก ช่องปาก (Oral)
                - ส่วนทางทวารหนัก (Anal)
                - และส่วนทางอวัยวะสืบพันธุ์ (Genital Organ)
                ฉะนั้น ฟรอยด์กล่าวว่าความพึงพอใจในส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ เป็นไปตามวัย เริ่มตั้งแต่วัยทารก จนถึงวัยผู้ใหญ่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ขั้น คือ
                1) ขั้นปาก (Oral Stage) (0-18 เดือน) ฟรอยด์เรียกขั้นนี้ว่า เป็นขั้นออรอล เพราะความพึงพอใจอยู่ที่ช่องปาก เริ่มตั้งแต่เกิด เด็กอ่อนจนถึงอายุราวๆ 2 ปี หรือวัยทารก เป็นวัยที่ความพึงพอใจ เกิดจากการดูดนมแม่ นมขวด และดูดนิ้ว เป็นต้น ในวัยนี้ความคับข้องใจ จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "การติดตรึงอยู่กับที่" (Fixation) ได้และมีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ เรียกว่า "Oral Personality" มีลักษณะที่ชอบพูดมาก และมักจะติดบุหรี่ เหล้า และชอบดูด หรือกัดอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่มีความเครียด บางครั้งจะแสดงด้วยการดูดนิ้ว หรือดินสอ ปากกาู้มีลักษณะแบบนี้อาจจะชอบพูดจาถากถาง เหน็บแนม เสียดสีผู้อื่น
                                2) ขั้นทวารหนัก (Anal Stage)  (18 เดือน – 3 ปี) ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กวัยนี้ได้รับความพึงพอใจทางทวารหนัก คือ จากการขับถ่ายอุจจาระ และในระยะซึ่งเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง และความคับข้องใจของเด็กวัยนี้ เพราะพ่อแม่มักจะหัดให้เด็กใช้กระโถน และต้องขับถ่ายเป็นเวลา เนื่องจากเจ้าของความต้องการของผู้ฝึก และความต้องการของเด็ก เกี่ยวกับการขับถ่ายไม่ตรงกันของเด็ก คือความอยากที่จะถ่ายเมื่อไรก็ควรจะทำได้ เด็กอยากจะขับถ่ายเวลาที่มีความต้องการ กับการที่พ่อแม่หัดให้ขับถ่ายเป็นเวลา บางทีเกิดความขัดแย้งมาก อาจจะทำให้เกิด Fixation และทำให้เกิดมีบุคลิกภาพนี้เรียกว่า "Anal Personality" ผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ อาจจะเป็นคนที่ชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นพิเศษ และค่อนข้างประหยัด มัธยัสถ์ หรืออาจมีบุคลิกภาพตรงข้าม คืออาจจะเป็นคนที่ใจกว้าง และไม่มีความเป็นระเบียบ เห็นได้จากห้องทำงานส่วนตัวจะรกไม่เป็นระเบียบ
                                    3) ขั้นอวัยวะเพศ (Phallic Stage) (3-5 ปี) ความพึงพอใจของเด็กวัยนี้อยู่อวัยวะสืบพันธุ์ เด็กมักจะจับต้องลูกคลำอวัยวะเพศ ระยะนี้ ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กผู้ชายมีปมเอ็ดดิปุส (Oedipus Complex) ฟรอยด์อธิบายการเกิดของปมเอ็ดดิปุสว่า เด็กผู้ชายติดแม่และรักแม่มาก และต้องการที่จะเป็นเจ้าของแม่แต่เพียงคนเดียว และต้องการร่วมรักกับแม่ แต่ขณะเดียวกันก็ทราบว่าแม่และพ่อรักกัน และก็รู้ดีว่าตนด้อยกว่าพ่อทุกอย่าง ทั้งด้านกำลังและอำนาจ ประกอบกับความรักพ่อ และกลัวพ่อ ฉะนั้นเด็กก็พยายามที่จะเก็บกดความรู้สึก ที่อยากเป็นเจ้าของแม่แต่คนเดียว และพยายามทำตัวให้เหมือนกับพ่อทุกอย่าง ฟรอยด์เรียกกระบวนนี้ว่า "Resolution of Oedipal Complex" เป็นกระบวนการที่เด็กชายเลียนแบบพ่อ ทำตัวให้เหมือน "ผู้ชาย" ส่วนเด็กหญิงมีปมอีเล็คตรา (Electra Complex) ซึ่งฟรอยด์ก็ได้ความคิดมาจากนิยายกรีก เหมือนกับปมเอ็ดดิปุส ฟรอยด์อธิบายว่า แรกทีเดียวเด็กหญิงก็รักแม่มากเหมือนเด็กชาย แต่เมื่อโตขึ้นพบว่าตนเองไม่มีอวัยวะเพศเหมือนเด็กชาย และมีความรู้สึกอิจฉาผู้ที่มีอวัยวะเพศชาย แต่เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ยอมรับ และโกรธแม่มาก ถอนความรักจากแม่มารักพ่อ ที่มีอวัยวะเพศที่ตนปรารถนาจะมี แต่ก็รู้ว่าแม่และพ่อรักกัน เด็กหญิงจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้กลไกป้องกันตน โดยเก็บความรู้สึกความต้องการของตน (Represtion) และเปลี่ยนจากการโกรธเกลียดแม่ มาเป็นรักแม่ (Reaction Formation) ขณะเดียวกันก็อยากทำตัวให้เหมือนแม่ จึงเลียนแบบ สรุปได้ว่าเด็กหญิงมีความรักพ่อ แต่ก็รู้ว่าแย่งพ่อมาจากแม่ไม่ได้ จึงเลียนแบบแม่ คือ ถือแม่เป็นแบบฉบับ หรือต้นแบบของพฤติกรรมของ "ผู้หญิง"
                           4) ขั้นแฝง (Latency Stage) เด็กวัยนี้อยู่ระหว่างอายุ 6-12 ปี เป็นระยะที่ฟรอยด์กล่าวว่า เด็กเก็บกดความต้องการทางเพศ หรือความต้องการทางเพศสงบลง (Quiescence Period) เด็กชายมักเล่น หรือจับกลุ่มกับเด็กชาย ส่วนเด็กหญิง ก็จะเล่น หรือจับกลุ่มกับเด็กหญิง
                         5) ขั้นสนใจเพศตรงข้าม (Genital Stage) วัยนี้เป็นวัยรุ่นเริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป จะมีความต้องการทางเพศ วัยนี้จะมีความสนใจในเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของวัยผู้ใหญ่
                          ฟรอยด์กล่าวว่า ถ้าเด็กโชคดี และผ่านวัยแต่ละวัย โดยไม่มีปัญหาก็จะเจริญเติบโต เป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพปกติ แต่ถ้าเด็กมีปัญหา ในแต่ละขั้นของพัฒนาการ ก็จะมีบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งฟรอยด์ได้ตั้งชื่อตามแต่ละวัย เช่น "Oral Personalities" เป็นผลของ Fixation ในวัยทารกจนถึง 2 ปี ผู้ใหญ่ที่มี Oral Personality เป็นผู้ที่มีความต้องการที่จะหาความพึงพอใจ ทางปากอย่างไม่จำกัด เช่น สูบบุหรี่ กัดนิ้ว ดูดนิ้ว รับประทานมาก มีความสุขในการกิน และชอบดื่ม คนที่มี Oral Personality อาจจะเป็นผู้ที่เห็นโลกในทางดี (Optimist) มากเกินไป จนถึงกับเป็นคนที่ไม่ยอมรับความจริงของชีวิต หรืออาจจะเป็น คนที่แสดงตนว่าเป็นคนเก่ง ไม่กลัวใคร และใช้ปากเป็นเครื่องมือ เช่น ชอบพูดเยาะเย้ย ถากถางและกระแนะกระแหนผู้อื่น
ถ้า Fixation เกิดในระยะที่ 2 ของชีวิต คือ อายุราวๆ 2-3 ปี จะทำให้บุคคลนั้น มีบุคลิกภาพแบบ Anal Personality ซึ่งอาจจะมีลักษณะต่างๆ ดังนี้
                (1) เป็นคนเจ้าสะอาดมากเกินไป (Obsessively Clean) และเรียบร้อยเจ้าระเบียบ เข้มงวด และเป็นคนที่ต้องทำอะไรตามกฎเกณฑ์ เปลี่ยนแนวไม่ได้
                (2) อาจจะมีลักษณะตรงข้ามเลย คือ รุงรัง ไม่เป็นระเบียบ
                (3) อาจจะเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย หรือตระหนี่ก็ได้ ผู้ชายที่แต่งงานก็คิดว่า ตนเป็นเจ้าของ "ผู้หญิง" ที่เป็นภรรยาเก็บไว้แต่ในบ้าน หึงหวงจนทำให้ภรรยาไม่มีความสุข ผู้หญิงที่มี Anal personality ก็จะหึงหวงสามีมาก จนทำให้ชีวิตสมรสไม่มีความสุข
บุคลิกภาพ
                1. Id  เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่เป็นส่วนที่จิตไร้สำนึก มีหลักการที่จะสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น เอาแต่ได้อย่างเดียว และจุดเป้าหมายก็คือ หลักความพึงพอใจ (Pleasure Principle) Id จะผลักดันให้ Ego ประกอบในสิ่งต่างๆ ตามที่ Id ต้องการ
                         2. Ego  เป็นส่วนของบุคลิกภาพ ที่พัฒนามาจากการที่ทารกได้ติดต่อ หรือมีปฎิสัมพันธ์กับโลก ภายนอก บุคคลที่มีบุคลิกภาพปกติ คือ บุคคลที่ Ego สามารถที่ปรับตัวให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการของ Id โลกภายนอก และ Superego หลักการที่ Ego ใช้คือหลักแห่งความเป็นจริง (Reality Principle)
                          3. Superego  เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่เกิดขึ้นในระยะที่ 3 ของพัฒนาการที่ชื่อว่า "Phallic Stage" เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ตั้งมาตรการของพฤติกรรมให้แต่ละบุคคล โดยรับค่านิยมและมาตรฐานจริยธรรมของบิดามารดา เป็นของตน โดยตั้งเป็นมาตรการความประพฤติ มาตรการนี้จะเป็นเสียงแทนบิดามารดา คอยบอกว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ มาตรการของพฤติกรรมโดยมากได้มาจากกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่พ่อแม่สอนและ มักจะเป็นมาตรฐานจริยธรรม และค่านิยมต่างของพ่อแม่ ฟรอยด์กล่าวว่าเป็นผลของการปรับของ Oedipus และ Electra Complex ซึ่งนอกจาก ทำให้เด็กชายเลียนแบบพฤติกรรมของ "ผู้ชาย" จากบิดา และเด็กหญิงเลียนแบบพฤติกรรมของ "ผู้หญิง" จากมารดาแล้ว ยังยึดถือหลักจริยธรรม ค่านิยมของบิดามารดา เป็นมาตรการของพฤติกรรมด้วย
การ์ตูน Id Ego Superego
Superego แบ่งเป็น 2 อย่างคือ                1. "Conscience" ซึ่งคอยบอกให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา
                2. "Ego ideal" ซึ่งสนับสนุนให้มีความประพฤติดี
                "Conscience" มักจะเกิดจากการขู่ว่าจะทำโทษ เช่น "ถ้าทำอย่างนั้นเป็นเด็กไม่ดี ควรจะละอายแก่ใจที่ประพฤติเช่นนั้น" ส่วน "Ego ideal" มักจะเกิดจากการให้แรงเสริมบวก หรือการยอมรับ เช่น แม่รักหนู เพราะหนูเป็นเด็กดี
                ฟรอยด์ถือว่าความต้องการทางเพศเป็นแรงขับ และไม่จำเป็นจะอยู่ในระดับจิตสำนึกเสมอไป แต่จะอาจอยู่ในระดับจิตไร้สำนึก (Unconscious) และมีพลังงานมาก ความคิดของฟรอยด์เกี่ยวกับแรงขับระดับจิตไร้สำนึก เป็นประโยชน์ในการเข้าใจพฤติกรรมของคน ซึ่งปัจจุบันนี้นักจิตวิทยาส่วนใหญ่ยอมรับความคิดของฟรอยด์เกี่ยวกับ Unconscious motivation แม้ว่าจะไม่รับหลักการของฟรอยด์ทั้งหมด
ฟรอยด์กล่าวว่า พัฒนาการทางบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะขั้นวัยทารก วัยเด็ก และวัยรุ่น ระบบทั้ง 3 ของบุคลิกภาพ คือ Id, Ego และ Superego จะทำงานประสานกันดีขึ้น เนื่องจากเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือโลกภายนอกมากขึ้น ยิ่งโตขึ้น Ego ก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น และสามารถที่จะควบคุม Id ได้มากขึ้น
องค์ประกอบที่มีส่วนพัฒนาการทางบุคลิกภาพมีหลายอย่างซึ่งฟรอยด์ได้กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
                     1. วุฒิภาวะ ซึ่งหมายถึงขั้นพัฒนาการตามวัย
                2. ความคับข้องใจ ที่เกิดจากความสมหวังไม่สมหวัง เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก
                3. ความคับข้องใจ เนื่องมาจากความขัดแย้งภายใน
                4. ความไม่พร้อมของตนเอง ทั้งทางด้านร่างกาย ด้านเชาวน์ปัญญา และการขาดประสบการณ์
                5. ความวิตกกังวล เนื่องมาจากความกลัว หรือความไม่กล้าของตนเอง
ฟรอยด์เชื่อว่า ความคับข้องใจ เป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาการทางบุคลิกภาพ แต่ต้องมีจำนวนพอเหมาะที่จะช่วยพัฒนา Ego แต่ถ้ามีความคับข้องใจมากเกินไป ก็จะเกิดมีปัญหา และทำให้เกิดกลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ซึ่งเป็นวิธีการปรับตัวในระดับจิตไร้สำนึกกลไกในการป้องกันตัวมักจะเป็นสิ่งที่คนทั่วไปนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของบุคคลปกติทุกวัย ตั้งแต่อนุบาลจนถึงวัยชรา
กลไกในการป้องกันตัว (Defense Mechanism) ฟรอยด์และบุตรีแอนนา ฟรอยด์ ได้แบ่งประเภทกลไกในการป้องกันตัวดังต่อไปนี้
1.การเก็บกด (Repression) หมายถึง การเก็บกดความรู้สึกไม่สบายใจ หรือความรู้สึกผิดหวัง ความคับข้องใจไว้ในจิตใต้สำนึก จนกระทั่ง ลืมกลไกป้องกันตัวประเภทนี้มีอันตราย เพราะถ้าเก็บกดความรู้สึกไว้มากจะมีความวิตกกังวลใจมาก และอาจทำให้เป็นโรคประสาทได้
 2.การป้ายความผิดให้แก่ผู้อื่น (Projection) หมายถึง การลดความวิตกกังวล โดยการป้ายความผิด ให้แก่ผู้อื่น ตัวอย่าง ถ้าตนเองรู้สึกเกลียด หรือไม่ชอบใครที่ตนควรจะชอบก็อาจจะบอกว่า คนนั้นไม่ชอบตน เด็กบางคนที่โกงในเวลาสอบ ก็อาจจะป้ายความผิด หรือใส่โทษว่าเพื่อโกง
3.การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) หมายถึง การปรับตัว โดยการหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง โดยให้คำอธิบายที่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนอื่น ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ตีลูก มักจะบอกว่า การตีทำเพื่อเด็ก เพราะเด็กต้องได้รับการทำโทษเป็นบางครั้งจะได้เป็นคนดี พ่อแม่จะไม่ยอมรับว่าตี เพราะโกรธลูก นักเรียนที่สอบตกก็อาจจะอ้างว่าไม่สบาย แทนที่จะบอกว่าไม่ได้ดูหนังสือ บางครั้งจะใช้เหตุผลแบบ "องุ่นเปรี้ยว" เช่น นักเรียนอยากเรียนแพทยศาสตร์ แต่สอบเข้าไม่ได้ ได้วิศวกรรมศาสตร์ อาจจะบอกว่าเข้าแพทย์ไม่ได้ก็ดีแล้ว เพราะอาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อย ไม่มีเวลาของตนเอง เป็นวิศวกรดีกว่า เพราะเป็นอาชีพอิสระ "การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง" แตกต่างกับการโกหก เพราะผู้แสดงพฤติกรรมไม่รู้สึกว่าตนเองทำผิด
4.การถดถอย (Regression) หมายถึง การหนีกลับไปอยู่ในสภาพอดีตที่เคยทำให้ตนมีความสุข ตัวอย่างเช่น เด็ก 2-3 ขวบ ที่ช่วยตนเองได้ มีน้องใหม่ เห็นแม่ให้ความเอาใจใส่กับน้อง มีความรู้สึกว่าแม่ไม่รัก และไม่สนใจตนเท่าที่เคยได้รับ จะมีพฤติกรรมถดถอยไปอยู่ในวัยทารกที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องให้แม่ทำให้ทุกอย่าง
5.การแสดงปฏิกิริยาตรงข้ามกับความปรารถนาที่แท้จริง (Reaction Formation) หมายถึง กลไกป้องกันตน โดยการทุ่มเทในการแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความรู้สึกของตนเอง ที่ตนเองคิดว่าเป็นสิ่งที่สังคม อาจจะไม่ยอมรับ ตัวอย่างแม่ที่ไม่รักลูกคนใดคนหนึ่ง อาจจะมีพฤติกรรมตรงข้าม โดยการแสดงความรักมากอย่างผิดปกติ หรือเด็กที่มีอคติต่อนักเรียนต่างชาติที่อยู่โรงเรียนเดียวกัน การจะแสดงพฤติกรรมเป็นเพื่อนที่ดีต่อนักเรียนผู้นั้น โดยทำตนเป็นเพื่อนสนิท เป็นต้น
6.การสร้างวิมานในอากาศ หรือการฝันกลางวัน (Fantasy หรือ Day dreaming) กลไกป้องกันตัวประเภทนี้ เป็นการสร้างจินตนาการ หรือมโนภาพ เกี่ยวกับสิ่งที่ตนมีความต้องการ แต่เป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงคิดฝัน หรือสร้างวิมานในอากาศขึ้น เพื่อสนองความต้องการชั่วขณะหนึ่ง เป็นต้นว่า นักเรียนที่เรียนไม่ดี อาจจะฝันว่าตนเรียนเก่ง มีมโนภาพว่าตนได้รับรางวัล มีคนปรบมือให้เกียรติ เป็นต้น
7.การแยกตัว (Isolation) หมายถึง การแยกตนให้พ้นจากสถานการณ์ที่นำความคับข้องใจมาให้ โดยการแยกตนออกไปอยู่ตามลำพัง ตัวอย่างเช่น เด็กที่คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก อาจจะแยกตนปิดประตูอยู่คนเดียว
8.การหาสิ่งมาแทนที่ (Displacement) เป็นการระบายอารมณ์โกรธ หรือคับข้องใจต่อคน หรือสิ่งของ ที่ไม่ได้เป็นต้นเหตุของความคับข้องใจ เป็นต้นว่า บุคคลที่ถูกนายข่มขู่ หรือทำให้คับข้องใจ เมื่อกลับมาบ้านอาจจะใช้ภรรยา หรือลูกๆ เป็นแพะรับบาป เช่น อาจจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยา และลูก ๆ นักเรียนที่โกรธครู แต่ทำอะไรครูไม่ได้ ก็อาจจะเลือกสิ่งของ เช่น โต๊ะเก้าอี้เป็นสิ่งแทนที่ เช่น เตะโต๊ะ เก้าอี้
9.การเลียนแบบ (Identification) หมายถึง การปรับตัวโดยการเลียนแบบบุคคลที่ตนนิยมยกย่อง ตัวอย่างเช่น เด็กชายจะพยายามทำตัวให้เหมือนพ่อ เด็กหญิงจะทำตัวให้เหมือนแม่ ในพัฒนาการขั้นฟอลลิคของฟรอยด์ การเลียนแบบนอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมือนบุคคลที่ตนเลียนแบบ แม้ยังจะยึดถือค่านิยม และมีความรู้สึกร่วมกับผู้ที่เราเลียนแบบในความสำเร็จ หรือล้มเหลวของบุคคลนั้น การเลียนแบบไม่จำเป็นจะต้องเลียนแบบจากบุคคลจริงๆ แต่อาจจะเลียนแบบจากตัวเอกในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ โดยมีความรู้สึกร่วมกับผู้แสดง เมื่อประสบความทุกข์ ความเศร้าโศกเสียใจ หรือเมื่อมีความสุขก็จะพลอยเป็นสุขไปด้วย
ลไกในการป้องกันตัว เป็นวิธีการที่บุคคลใช้ในการปรับตัว เมื่อประสบปัญหาความคับข้องใจ การใช้กลไกป้องกันจะช่วยยืดเวลาในการแก้ปัญหา เพราะจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด ความไม่สบายใจ ทำให้คิดหาเหตุผล หรือแก้ไขปัญหาได้
สรุปแล้วทฤษฎีของฟรอยด์ เป็นทฤษฎีที่มีอิทธิพลมากทั้งทางตรง และทางอ้อม ผู้ที่มีความเชื่อ และเลื่อมใสในทฤษฎีของฟรอยด์ ก็ได้นำหลักการต่างๆ ไปใช้ในการรักษาคนที่มีปัญหาทางบุคลิกภาพ ซึ่งได้ช่วยคนมากว่ากึ่งศตวรรษ ส่วนนักจิตวิทยาที่ไม่ใช้หลักจิตวิเคราะห์ ก็ได้นำความคิดของฟรอยด์ ไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการทางบุคลิกภาพ จึงนับว่าฟรอยด์เป็นนักจิตวิทยา ผู้มีอิทธิพลมากต่อพัฒนาการของวิชาจิตวิทยา








ทฤษฎีพัฒนาการทางจิต-สังคม (Psycho socil Development) : Erik Erikson
เพลงพัฒนาการทั้ง 8 ของอิริคสัน
 
 
                อีริคสัน เป็นนักจิตวิทยาวิเคราะห์ที่ได้รับการฝึกหัดมาจากฟรอยด์เช่นกัน แต่ได้แก้ไขความคิดของ ฟรอยด์ในหลายด้าน และก็ได้คงลักษณะความคิดบางส่วนของฟรอยด์ เอาไว้เช่นกัน ในเรื่องการพัฒนาบุคคลนั้น อีริคสันมีความเชื่อเช่นกันว่าจิตใจของบุคคลต้องมีการพัฒนามาเป็นระยะแต่จิตใจของบุคคลมิได้พัฒนามาจากความเจริญทางเพศ หากแต่พัฒนามาจากการหล่อหลอมของสิ่งแวดล้อมทางสังคม เมื่อช่วงอายุผ่านไปความต้องการทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทางสังคมจะเปลี่ยนไป บุคคลจะผ่านขั้นต่างๆโดยในแต่ละขั้นจะทิ้งลักษณะวิกฤตการณ์บางอย่างเอาไว้
                ชีวิตในแต่ละวัย เป็นเครื่องทดลองความสามารถของบุคคล ถ้าผ่านมาได้สำเร็จก็จะพบกับประสบการณ์ที่ดี ถ้าล้มเหลวก็จะได้อีกลักษณะที่ตรงกันข้าม ร่องรอยจากประสบการณ์ในอดีตก็จะเป็นเสมือนแผลเป็นในชีวิต ซึ่งอาจจะเป็นแผลแห่งความสุขหรือความทุกข์ก็ได้ อีริคสันใช้คำว่า "Sense of" นำหน้าพัฒนาการในแต่ละขั้น เพราะเขาคิดว่าในแต่ละขั้นนั้นจะเป็นการทิ้งความรู้สึกเอาไว้ให้บุคคล (น่าสังเกตว่าเป็นทฤษฎีที่ค่อนข้างเน้นเน้นทางอารมณ์)
                ขั้นพัฒนาการของอีริคสันมีทั้งหมด ๘ ขั้น
                1. ขั้นสร้างความรู้สึกเชื่อถือไว้วางใจ V.S ความรู้สึกไม่เชื่อถือไว้ใจ (Sense of Trust V.S Mistrust)
                เป็นปีแรกสุดของชีวิต ทารกนั้นเมื่ออยู่ในครรภ์จะมีความสุขความสะดวกสบายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ความร้อนความเย็นหรือความปลอดภัยทุกด้าน แต่เมื่อคลอดออกมาจากครรภ์ ทารกไม่สามารถจะมีความสุขอยู่ได้อย่างเดิม เขาจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในการปรับตัวนี้ ถ้าเขามีแม่ซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมคอยช่วยเหลือ เขาก็สร้างความรู้สึกไว้วางใจว่า โลกนี้น่า ภิรมณ์พอที่เขาจะอาศัยอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าเขาได้รับแต่ส่วนที่เลวร้ายจากสังคม เด็กก็จะสร้างความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เขาไม่สามารถจะไว้วางใจใครได้ในโลกนี้ ส่วนความพึงพอใจเด็กวัดจากความสุขสบายทางกายภาพของเขาคือเวลาหิวก็ได้กิน เวลาเปียกก็ได้เปลี่ยน เวลาหนาวก็ได้อุ่นเพราะฉะนั้น แม่เป็นตัวการที่สำคัญสำหรับเด็กในการสร้างความรู้สึกไว้วางใจ และเด็กวัดจากการดูแลอบรมเลี้ยงดูของแม่ วัดจากการกระทำของแม่ เป็นที่น่าสังเกตว่าเด็กๆรับรู้ได้จากการกระทำของแม่ ไม่ใช่ทางคำพูด(เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถเข้าใจภาษาได้ เขาจึงมีความรู้สึกไวเป็นพิเศษต่อกิริยาท่าทาง แม้แต่การอุ้ม ท่าการให้นม)มารดาจึงไม่สามารถปิดซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงกับบุตรได้ การอบรมเลี้ยงดูนั้นไม่ได้หมายถึงการต้องหาอาหารอย่างดีมาให้หรือต้องมีที่หลับที่นอนราคาแพง คุณสมบัติทางด้านวัตถุเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เด็กสนใจวิธีการปฏิบัติต่อกันมากกว่า เช่นท่าทางการอุ้ม การแสดงความรักใคร่ ได้มีการตั้งข้อสังเกต(หรืออาจจะถึงขั้นการวิจัย)ว่า การให้นมทารกนั้นควรจะใช้ท่าอุ้ม มากกว่าที่จะให้ทารกนอนดูดนมอยู่บนที่นอน เพราะช่วงเวลาในการให้นมนี้จะเป็นเวลาที่แม่ได้มีโอกาสแสดงความรักต่อทารกอย่างเต็มที่  ถ้าไม่สามารถสร้างความรู้สึกไว้วางใจได้ก็จะเป็นพื้นฐานของการไว้วางใจมั่นใจในโลกนี้ต่อไป ถ้าแม่ทำไม่สำเร็จก็จะตกค้างอยู่ในจิตใจของทารกต่อไปในชีวิตอนาคตของเขา
                2. ขั้นสร้างความรู้สึกเป็นอิสระ V.S ความรู้สึกละอายสงสัยไม่แน่นอน (Sense of autonomy V.S shame or doubt)
                เป็นปีที่ ๒ ของชีวิต ซึ่งพัฒนาการทางร่างกายของเด็กที่จะเจริญมาถึงขั้นที่สามารถควบคุมอวัยวะที่ขับถ่ายของตนเองได้บ้างแล้ว เช่นการปัสสาวะหรืออุจจาระออกมาหรือการกลั้นเอาไว้ ซึ่งเขาสามารถบังคับได้ กิจกรรมหลักของเด็กในวัยนี้จะมุ่งอยู่ที่การขับถ่าย เขาจะเริ่มรู้สึกว่าเขาเริ่มบังคับบางอย่างได้แล้ว หลังจากที่ช่วงปีแรกของชีวิตนั้นเด็กไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมภายนอกหรือแม้แต่ตัวของเขาเองได้เลย ถ้าพ่อแม่ปล่อยปะละเลยเด็กจะสามารถสร้างความรู้สึกว่าตนเองเป็นอิสระ ตอนช่วงนี้เองเป็นช่วงพ่อแม่จะฝึกการขับถ่ายให้เด็ก ถ้าการฝึกนั้นเข้มงวดเคร่งเครียดทำให้เด็กรู้สึกอับอายและสงสัยจริงๆว่า เขาไม่มีเสรีภาพในตนเองเลย แต่ถ้าการฝึกเป็นไปอย่างละมุนละม่อม มีการบอกเวลาและสถานที่ให้เด็กควบคุมได้ มีการผ่อนปรนบ้างแล้วในขั้นต้นๆเขายังทำไม่ได้ดีพอ ไม่ลงโทษด้วยการดุหรือตีหรือเห็นเรื่องการขับถ่ายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ
 ความอับอายและความสงสัยจะสร้างความอ่อนแอในตนเอง จะเป็นปมด้อยให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาพยายามสร้างเกราะป้องกันตนเอง เพื่อไม่ให้เสียหน้าไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวความอับอาย ไม่มั่นใจในความสามรถของตน ขั้นนี้เป็นการวางพื้นฐาน เรื่องความรักและความเกลียด ความร่วมมือและความเต็มใจ การมีเสรีภาพอย่างมีวินัยกำกับ การรู้จักควบคุมตนเอง การมีวินัยในตนเอง การตั้งกฎเกณฑ์ เด็กจะได้รับความเข้าใจว่าเสรีภาพเป็นเรื่องที่ต้องฝึก เสรีภาพต้องมีวินัย
                3. ขั้นสร้างความคิดริเริ่ม V.S ความรู้สึกผิด  (Sense of Iniative V.S guilt)       
                อยู่ในระหว่างปีที่ ๓-๕ ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กเริ่มออกจากบ้านไปสู่สิ่งแวดล้อมใกล้ๆ บ้านเด็กจะได้พบกับเพื่อนเล่นข้างบ้าน พบกับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆซึ่งจะก่อให้เกิดการแก้ปัญหาใหม่ๆแก่เขาเช่นกัน การได้พบปัญหามากขึ้นก็ทำให้เด็กสามารถสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาใหม่ๆขึ้นมา ถ้าสิ่งแวดล้อมได้อนุญาตให้เด็กได้ทดลองทำผิดบ้างถูกบ้าง ได้เรียนรู้จากข้อบกพร่องของตนเอง โดยไม่ถือเป็นเรื่องเสียหายร้ายแรง โดยไม่สร้างความรู้สึกว่าการทำผิดนั้นเป็นสิ่งเลวร้าย เด็กจะเกิดความรู้สึกที่ดีในการแก้ปัญหา มีความสนุกสนานที่ผจญต่อสู้กับปัญหาต่างๆ แต่ถ้าพ่อแม่หรือสิ่งแวดล้อมทางสังคมไม่อนุญาตให้แม้แต่การทำผิด ไม่ถือว่าการทำผิดนั้นเป็นการเรียนรู้ กลับสร้างความรู้สึกให้เด็กว่า การทำผิดนั้นเป็นเรื่องน่าอับอายเสียหายร้ายแรง เด็กก็จะสร้างความรู้สึกผิด (guilt feeling) ขึ้นมา ทำให้เด็กรู้สึกเสียใจเมื่อทำพลาดไป หรืออีกแบบหนึ่งก็คือ ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวผิด  แท้จริงแล้ว การทำผิดนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นของการทำถูก เราไม่ควรเกิดความรู้สึกผิดมากมายเมื่อต้องทำผิด หากแต่เราคิดว่า เราควรจัดการอย่างไรต่อความล้มเหลวในครั้งก่อน เพื่อทำให้ถูกต้องในครั้งต่อๆไปมากกว่า
 ถ้าเด็กได้รับการให้กำลังใจจากสิ่งแวดล้อม เขาก็จะรู้สึกสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา แต่ถ้าเด็กได้รับการเยาะเย้ยถากถางจากการทำผิด ก็จะเกิดความรู้สึกผิดตลอดเวลาที่จำเป็นต้องทำผิดขึ้นมา ถ้าท่านผู้เป็นพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของเด็กๆท่านจะเลือกทางไหนล่ะ
                4. ขั้นสร้างความรู้สึกขยันหมั่นเพียร V.S ความรู้สึกด้อย (Sense of Industry V.S Inferiority)
                อยู่ในระหว่าง ๖ปี-วันแรกรุ่น ในขั้นนี้ส่วนมากเด็กจะไปโรงเรียน เมื่อไปโรงเรียนเด็กจะมีโอกาสริเริ่มทำสิ่งต่างๆได้มาก เริ่มจะเป็นคนผู้รู้จักทำงาน เริ่มเข้าใจความหมายของความเป็นคนว่า "คนนั้นเป็นคนอยู่ได้เพราะการทำงาน" เด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะผลิตงานต่างๆออกมาเป็นวัยแห่งความขยันขันแข็ง(ทำให้น่าสังเกตว่า โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีความขยันหมั่นเพียรที่จะทำงานและจะมีความสุขอยู่ด้วยการได้ทำงาน) ในวัยนี้จึงเป็นการปูพื้นฐานเบื้องต้นแห่งนิสัยในการทำงาน ถ้าผลผลิตที่เขาทำแล้วได้รับการยกย่อง เห็นคุณค่าจากสังคม ก็ย่อมทำให้เกิดกำลังใจในการทำงาน แต่ถ้าสังคมไม่เห็นคุณค่าของงานที่เขาทำ ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นปมด้อย เห็นตนเองว่าไร้ค่าไม่อยากทำงานและดูถูกตัวเอง และนี่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่อยากทำงานของตน เนื่องจากงานของเขาขาดการยกย่องทางสังคม และนอกจากนั้น การถูกบังคับให้ทำงาน หรือเรียนในสิ่งที่ไม่มีความหมายต่อตน ก็ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก (alienation)กับงานที่ทำ ทำให้ไม่อยากทำงาน มีแนวคิดที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ เรื่องการเล่นและงานของเด็ก มีผู้เสนอแนวคิดว่า โลกของเด็กไม่ใช่โลกของการเล่นเสมอไป ยกตัวอย่างเด็กทางตะวันออกที่ต้องทำงานมากกว่าเด็กทางตะวันตก เด็กไทยในชนบทก็ต้องช่วยทำงานเช่นเลี้ยงควาย ดูแลน้องแล้วในวัยนี้
                5. ขั้นสร้างความรู้สึกที่จะทำความเข้าใจกับตัวเองได้ V.S ความสับสนไม่เข้าใจตัวเอง (Sense of Identity V.S Identity Diffusion)
                ได้แก่ระยะวัยรุ่น ในระยะนี้เด็กได้ผ่านพ้นวัยเด็กมาแล้ว แต่เขาก็ยังไม่ได้เข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มที่ เขากำลังเป็นวัยรุ่น ลักษณะพิเศษของเด็กวัยรุ่นก็คือ ร่างกายกำลังเติบโต มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความคิดและอารมณ์ก็เติบโตตามไปด้วย บทบาทของเด็กในสังคมก็เปลี่ยนไป ดังนั้นเด็กจึงต้องหาเอกลักษณ์ของตนเพื่อบอกให้ได้ว่า ตนเองมีฐานะทางสังคมอย่างไร เด็กวัยรุ่นมีฐานะไม่ชัดเจนทางสังคม เขาไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้วแต่ก็ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่ เขาเป็นเด็กตัวโตๆและเป็นผู้ใหญ่ตัวเล็กๆ ถ้าสังคมไม่กำหนดบทบาทให้เขาได้อย่างชัดเจนก็จะก่อให้เกิดความสับสนในบทบาทของตนเอง ลักษณะที่สำคัญของวัยรุ่น ก็คือ รับรู้ไว เรียนรู้ไว มีลักษณะอุดมคติและไม่เพียงแต่จะมองหาอุดมการณ์เท่านั้นแต่ยังมีความพยายาม ที่จะทำให้อุดมการณ์นั้นเป็นจริงด้วย (มีพลังที่จะคิดจะทำที่ดีกว่า) วัยรุ่นจะเชื่อเสมอว่าอุดมการณ์คือสิ่งที่ทำให้เป็นจริงได้เสมอ แต่ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมหลอกลวงเขา เขาก็จะปฏิเสธและจะค้นหาความจริงด้วยตนเอง สังคม (ผู้ใหญ่) มักจะมีการคาดหวังบทบาทล่วงหน้าเอาไว้ให้กับเด็กวัยรุ่น เช่น วิธีที่พูดถึงเด็กวัยรุ่นว่า ถ้าเป็นวัยรุ่นก็ต้องมีปัญหา อันที่จริงลักษณะของวัยรุ่นก็คือ เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขของสังคม เนื่องจากวัยรุ่นเป็นคนที่ไม่เข้ากลุ่มไหน จึงไม่ต้องยอมรับเงื่อนไขของสังคมไหน ไม่ว่าจะเป็นสังคมเด็กสังคมผู้ใหญ่ และเนื่องจากเขาเป็นคนที่ปฏิเสธความเชื่อเก่าๆ เขาต้องการตรวจสอบค่านิยมเดิมๆว่าถูกต้องหรือไม่ เช่นค่านิยมที่ว่า คนผมยาวเป็นคนไม่ดี และเพราะลักษณะนี้เองทำให้ผู้ใหญ่มองว่าเป็นปัญหา เพราะการไม่ยอมรับมาตรฐานของกลุ่มผู้ใหญ่(Non-Conformity) เมื่อวัยรุ่นไม่ยอมรับเงื่อนไขก็มีการกล่าวว่าวัยรุ่นมีปัญหา เกิดความขัดแย้งเป็นช่องว่างระหว่างวัยขึ้นมา คำกล่าวที่ว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีปัญหานั้น ไม่น่าจะจริงเสมอไป ดูตัวอย่างจากงานด้านการศึกษานักมนุษย์วิทยาที่ได้ค้นพบสังคมชาวเกาะโบราณ ที่มีการยอมรับวัยรุ่นเป็นอย่างดี ในสังคมแบบนี้บทบาทของวัยรุ่นไม่สับสน หรือในสังคมปัจจุบันบางสังคมก็มีการกล่าวถึงวัยรุ่นว่า "จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย เกรียงไรพลังสร้างสรรค์"จึงเท่ากับเป็นการเปรียบเทียบวันรุ่นว่า เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่เพิ่งจะเริ่มขึ้น ย่อมจะต้องทอแสงต่อไปอีกยาวนานเป็นการแสดงภาพพจน์ที่ดีที่สังคมมีต่อวัยรุ่น ปัญหาของวัยรุ่นจึงไม่น่าจะเป็นปัญหาของตัววัยรุ่นเอง แต่น่าจะเป็นปัญหาจากโครงสร้างสังคม ที่ไม่มีการกำหนดบทบาทในวัยรุ่นให้ได้ค้นพบเอกลักษณ์ของตัวเองหรือต้องสับสนกับตนเองมากว่า
                6. ขั้นสร้างความรู้สึก ใกล้ชิดสนิทสนมเป็นปึกแผ่น V.S ความโดดเดี่ยวเดียวดายอ้างว้าง  (Sense of Iniatimacy and Solidarity V.S Isolation)
                เป็นวัยเริ่มเป็นผู้ใหญ่ หัวใจหลักในวัยนี้ก็คือ ความรักและการทำงาน เพราะเมื่อมองดูจากฐานะทางสังคมในวัยนี้ บุคคลจำเป็นจะต้องนำตัวเองเข้าไปผูกพันกับหลักแหล่งอันใดอันหนึ่ง ทั้งด้านการงานและครอบครัวในระยะนี้ ไม่ใช่ระยะปฏิเสธหัวชนฝาแบบวัยรุ่นอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นระยะที่ต้องยอมรับทางสังคมบางอย่าง บุคคลมีความพร้อมแล้วทางถานะสังคมในอันที่จะประกอบสัมมาอาชีพเพราะจบการศึกษาแล้วและบุคคลมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้วที่จะตั้งหลักฐานเป็นครอบครัวกับใครสักคนหนึ่ง ถ้าบุคคลสามารถจัดการความสามารถส่วนตัวให้ไปกันได้กับสถาบันต่างๆของสังคมเขาก็จะอยู่ในสังคมไปได้ด้วยดี แต่ถ้าเขามีปัญหามาเสียตั้งแต่ขั้นต้นๆจนทำให้ไม่สามารถจัดการกับเรื่องการงานและความรักได้สำเร็จ ความอับอายความกลัวเสียหน้าก็จะทำให้แยกตัวออกจากเพื่อนฝูง หลบหน้าไม่ยอมพบปะผู้คน สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่สำคัญคือเพื่อนสนิท มิตรร่วมงานและคู่ชีวิต ปัญหาที่บุคคลต้องประสบในชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัวก็คือ ความร่วมมือและการแข่งขัน เขาจะต้องสามารถจัดการกับทั้งสองสิ่งนี้ให้ได้พอเหมาะ ความรู้สึกที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ก็คือความรักและความผูกพันต่องานและครอบครัว
                7. ขั้นให้กำเนิด และเลี้ยงดูบุตร V.S การหมกมุ่นใฝ่ใจแต่ตัวเอง (Sense of Generative V.S Stagnation)
                เป็นวัยผู้ใหญ่และเข้าสู่วัยกลางคน ขั้นนี้เป็นขั้นที่คนเริ่มคิดวางแผนอนาคต คิดถึงการมีสายสัมพันธ์ มีลูกหลานในด้านความมั่นคงทางการงานอาจจะหมายถึงการสร้างหลักฐาน ปลูกบ้านช่อง ส่วนความมั่นคงทางจิตใจหมายถึงความต้องการที่จะมีบุตรหลาน คนที่สามารถประคองนาวาชีวิตมาได้ดีจนถึงวัยนี้ ก็จะเกิดความรู้สึกดังที่กล่าวมา ส่วนบุคคลที่ล้มเหลวไม่ได้แต่งงาน ก็ย่อมหมดโอกาสที่จะมีบุตรหลาน หรือถ้าไม่มีงานทำก็หมดโอกาสที่จะเป็นหลักเป็นฐาน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็คือเฉยชา ไม่คิดจะสร้างสรรค์อะไรไว้ให้ใคร เมื่อไม่มีสิ่งแวดล้อมจะให้สนใจก็จะพุ่งความสนใจเข้าตัวเอง กลายเป็นคนรักตัวเองหมกมุ่นใฝ่ใจแต่เรื่องของตัวเอง ไม่รักผู้อื่น ไม่คิดเรื่องสังคมโดยรอบ สิ่งแวดล้อมที่สำคัญคือการได้มีโอกาสแสดงความรับผิดชอบในครอบครัว บุคคลที่มีพัฒนาการสมบูรณ์จะมีความรู้สึกว่าได้ทำประโยชน์แก่สังคม และสามารถให้ความดูแลอารักชาผู้อื่นได้
                8. ขั้นสร้างความรู้สึกมั่นคงสมบูรณ์ V.S ความหมดหวังทอดอาลัย (Sense of Integrity V.S Despair)
                เป็นวัยชรา เป็นวัยสุดท้ายที่ประมวลเอาประสบการณ์ในชีวิตไว้ เป็นวัยสุดท้ายของชีวิต ฉากสุดท้ายของชีวิตนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นได้สามารถพัฒนาตนเองมาตั้งแต่ฉากแรกได้อย่างไร บุคคลได้มีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร ช่วงสุดท้ายของชีวิตจะเป็นช่วงสุดท้ายที่เราหันกลับไปมองอดีตมาตั้งแต่ต้น และเหลือตกตะกอนเป็นช่วงปลายของชีวิต
  ถ้าชีวิตตั้งแต่ต้นพบกับความสำเร็จ ในขั้นสุดท้ายนี้บุคคลก็จะพึงพอใจในชีวิตที่ผ่านมา เพราะพร้อมที่จะอำลาจาโลกนี้ไป เนื่องจากได้ประจักษ์ถึงผลสำเร็จที่ได้เกิดขึ้น หลายคนพอใจที่จะติดต่อกับคนรุ่นหลัง เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์แต่ครั้งหลังให้เป็นบทเรียน เหมือนเราได้ทำงานชิ้นหนึ่ง เมื่อทำได้สำเร็จแล้วถึงเวลาอันสมควรเราก็อยากจะวางมือและส่งต่อให้ผู้อื่นได้รับไปทำต่อ บุคคลเหล่านี้จะสามารถมองโลกได้กว้างไกล มีความรักในมนุษยชาติและตระหนักว่าชีวิตเป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ ความรู้สึกที่สร้างขึ้นคือ ความรู้สึกว่าตนฉลาดรอบรู้ การสละตัดใจได้ไม่กลัวต่อความตายที่ย่างเข้ามาใกล้
  ตรงข้ามกับบุคคลผู้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะมีความกลัวตายเมื่อรู้แน่ชัดว่าเวลาของตนใกล้เข้ามาแล้ว เขาจะรู้สึกผูกพันกับภารกิจที่ยังคั่งค้างอยู่ ยังทำได้ไม่สำเร็จความหมดหวังท้อแท้ต่อชีวิตปรากฏขึ้น การใช้ชีวิตในบั้นปลายจะเป็นการอยู่ไปวันๆอย่างไร้ความหมายสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของคนชราคือ คนในวัยและสถานะเดียวกัน ตลอดชีวิตของบุคคลนี้ ก็คือการสร้างสรรค์และฝึกการทำหน้าที่ของ ego มาตลอด